"Thailand 4.0 : สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่โลก"
พลวัตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีอยู่ด้วยกัน 3 กระแสหลัก คือ
1) Globalization ที่ทั่วโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งต่างๆเหล่านี้พร้อมกัน อาทิ
- กระแส Digitization ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนและรูปแบบในการทำธุรกิจ
- กระแส Urbanization ที่มีการกระจายตัวไปโดยรอบทุกคนเริ่มมีชีวิตความเป็นอยู่แบบคนเมือง มีการกระจายตัวทางความเจริญไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น
- กระแส Commonization ที่เป็นเรื่องที่ผู้คนในโลกได้รับผลกระทบร่วมกันอย่างถ้วนทั่ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การก่อการร้าย โรคระบาด ที่สามารถแพร่ไปในทุกภูมิภาคของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2) Regionalization กระแสการรวมกลุ่มกันในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ การรวมกลุ่มดังกล่าวทำให้มีอำนาจต่อรองของประเทศที่อยู่ในกลุ่มสมาชิกเป็นอย่างดี
3) Localization กระแสของการมีความเป็นท้องถิ่นและชุมชนอย่างเข้มข้น เชียงใหม่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการมี Locality ที่เข้มแข็ง เนื่องจากมีความเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่ชัดเจน รวมถึงมีศิลปะและวัฒนธรรมที่สืบทอดและเชื่อมโยงคนในท้องถิ่นมายาวนาน
สามกระแสหลักดังกล่าว จะเหนี่ยวนำให้เชียงใหม่พัฒนาไปในทิศทางใด ต้องฝากเป็นการบ้านให้พี่น้องชาวเชียงใหม่ได้ขบคิดและขับเคลื่อนกันต่อนะครับ
ผมขอเล่าย้อนให้เห็นภาพของพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของไทย ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยการพึ่งพาทุนจากต่างชาติเป็นหลัก ผ่าน BOI และพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนเจ้าของกิจการของธุรกิจส่งออกก็เป็นชาวต่างชาติ ไทยจะได้รับก็เพียงค่าแรงและตัวเลขการส่งออกที่สวยหรูเท่านั้น
ผลจากการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจแบบนั้น ทำให้ในที่สุด เรากำลังติดกับดักของการที่เป็นประเทศที่มี "รายได้ปานกลาง" ไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เนื่องจากต้องพึ่งพาต่างชาติมากจนเกินไป นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง อำนาจ และโอกาสมากมาย
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนผ่านสู่ "Thailand 4.0" ที่ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง และสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามแนวทางท่านนายกฯประยุทธ์ได้กล่าวไว้
"Thailand 4.0" ประกอบด้วย 2 แนวคิดสำคัญ
1. "Strength from Within" คือการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน
2. "Connect to the World" เมื่อภายในเข้มแข็งแล้วเราก็ต้องเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในกับเศรษฐกิจโลก
ผมขออนุญาตแจกแจงทีละส่วนนะครับ
Strength from Within หรือการสร้างความเข้มแข็งจากภายในนั้น มีกลไกในการขับเคลื่อนหลักอยู่ 3 ตัว คือ
• การยกระดับนวัตกรรม (Innovation Driven Proposition) ของทุกภาคส่วนในประเทศ
• การสร้างสังคมที่มีจิตวิญาณของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur Driven Proposition)
• การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่าย (Community Driven Proposition)
ซึ่งทั้ง 3 กลไกนี้ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน
นวัตกรรมจะถูกยกระดับขึ้น ผ่าน Growth Engine 3 ตัวใหม่ อันประกอบด้วย Green Growth Engine, Productive Growth Engine และ Inclusive Growth Engine
การยกระดับนวัตกรรมเมื่อผนวกกับการสร้างสังคมที่มีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ จึงจะเอื้อให้เกิดการสร้าง Smart Enterprise ที่มีโมเดลการทำธุรกิจแบบใหม่ๆ มากมาย ท่ามกลาง Enabling Ecosystem ที่เอื้อให้เกิดการรังสรรค์นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์
ส่วนสุดท้ายของ Strength from Within คือการสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากหรือชุมชน ซึ่งเมื่อผนวกความเข้มแข็งในระดับฐานรากกับการสร้างสังคมที่มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ จะก่อให้เกิดการขยับปรับเปลี่ยนสถานะของผู้คนในสังคม (Social Mobility) ผ่านการสร้างสังคมแห่งโอกาส (Society with Opportunity) ควบคู่ไปกับการสร้างสังคมที่สามารถ (Society with Competence)
และเมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศเกิดความเข้มแข็งแล้ว การเชื่อมโยงภายนอก (Connect to the World) เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินควบคู่กันไป ซึ่งในส่วนนี้ ผมอยากให้มองระบบเชื่อมโยงกับโลกใน 3 ระดับด้วยกัน คือ
• Domestic Economy เศรษฐกิจภายในประเทศ
• Regional Economy เศรษฐกิจภูมิภาค
• Global Economy เศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจในประเทศ เมื่อเชื่อมโยงกับแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก จะก่อให้เกิดการเติมเต็มพลังในท้องถิ่น (Local Empowerment) ผ่านการค้าและการลงทุนในท้องถิ่น การจ้างงานในท้องถิ่น และนำไปสู่ความเป็นเจ้าของของคนในท้องถิ่น
ขณะเดียวกัน การผนวก Domestic กับ Regional Economy เข้าด้วยกัน เราจะเห็นภาพของ ASEAN ในภาพใหญ่ และ CLMVT ในภาพที่เล็กลงมา ซึ่งส่วนนี้จะสอดรับกับแนวคิด "CLMVT As Our Home Market" ที่รัฐบาลชุดนี้กำลังผลักดันอยู่ ผ่านการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดทั้งในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล ธุรกิจกับธุรกิจ และประชาชนกับประชาชน
สุดท้ายเป็นการเชื่อมโยง Regional กับ Global Economy ขยายความเชื่อมโยงและเรียงร้อย ASEAN เข้าด้วยกัน เพื่อเป็นพลังต่อรองกับส่วนอื่นๆของประชาคมโลกผ่านบทบาทในมิติทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ของภูมิภาคแห่งนี้
ทั้งหมดนี้เป็นจิ๊กซอร์ของ "Thailand 4.0" ที่ผมเชื่อว่าจะนำพาประเทศไทยของเราให้ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ ซึ่งจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหวัง( Hope) มีความสุข (Happy) และความสมานฉันท์ (Harmony) ได้อย่างแท้จริง